บ๊วย (อังกฤษ: Chinese plum, Japanese apricot; ชื่อวิทยาศาสตร์: Prunus mume) เป็นผลไม้ที่อยู่ในสกุล Prunus มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และพบในไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม และลาว ในประเทศไทยนิยมปลูกบริเวณภาคเหนือของไทย เช่น ดอยอ่างขาง ในโครงการหลวง โดยนำพันธุ์มาจากไต้หวันและญี่ปุ่น ใบขนาดเล็ก สีเขียวอมเทา ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกมีกลิ่นหอม สีขาวหรือชมพู ผลเล็ก ทรงกลม เมื่ออ่อน ผลสีเขียว เมื่อสุกสีเหลิอง เนื้อนิ่ม รสเปรี้ยวอมหวาน เมล็ดแข็ง
คุณประโยชน์
- ช่วยแก้อาการแพ้ท้อง
- แก้อาการเมาค้าง ไม่ว่าจะเกิดจากการดื่มสุรา หรือจากการเดินทาง เช่น เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และอาหารไม่ย่อย
- บ๊วยเป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นตัวช่วยในระบบขับถ่ายน้ำในร่างกาย เพราะการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หรือเผ็ดจัด จะทำให้การขับถ่ายน้ำไม่ค่อยดี อาจทำให้เกิดโรคในระบบการขับถ่ายน้ำตามมา เช่น โรคถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคบวมน้ำ โรคไต เป็นต้น ซึ่งการรับประทานบ๊วยจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
- ช่วยป้องกันเป็นลมแดด สำหรับผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากบ๊วยโดยเฉพาะบ๊วยเค็มจะมีโซเดียมอยู่มาก จึงช่วยเติมเกลือแร่ให้กับร่างกาย โดยควรกินพร้อมกับการดื่มน้ำแบบค่อย ๆ จิบก็จะช่วยได้มาก
- มีอาการง่วงนอน บ๊วยถือว่าเป็นของทานเล่นที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เพราะจะช่วยผ่อนคลายอาการง่วงนอนได้เป็นอย่างดี